วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อำลาปี พ.ศ. ๒๕๕๕

อีกไม่ช้าและไม่นาน...ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ หรือ ค.ศ. 2012 ก็จะผ่านพ้นไป
คิดๆ ดูแล้วก็ใจหายวาบเหมือนกัน หนึ่งปีผ่านไปพร้อมกับเรื่องราวต่างๆ มากมายหลายรสชาติ
สำหรับผมนั้น ปีที่กำลังจะเก่านับเป็นปีซึ่งน่าจะอ่านหนังสือได้น้อยลง สัมผัสหน้ากระดาษน้อยลง
กลายเป็นว่ายิ่งอายุมากขึ้น ชีวิตและสายตากลับต้องมาเพิ่งพิศหน้าจอสี่เหลี่ยมๆ เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันก็ดูโทรทัศน์น้อยลง พูดคุยน้อยลง และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนลดลง...

มีหนังสือหลายเล่มที่อยากเปิดอ่านทว่าจนแล้วจนเล่าก็ไม่ได้หยิบมาอ่าน
และก็มีหนังสือเก่าเก็บอีกมากมายที่อยากอ่านซ้ำ แต่ก็ยังหาเวลามารื้อฟื้นไม่ได้สักที

อีกไม่กี่ชั่วโมง...เสียงเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับปีใหม่ก็จะโหมโรงเปิดฉากขึ้น
นับเป็นช่วงวันหยุดและห้วงเวลาแห่งความสุขของคนมากมาย...
บล็อก แนะนำหนังสือสอง เล็กๆ นี้ ก็ขอส่งความสุขและความปีติยินดีแด่คนไทยทุกท่านด้วย
กระนั้น, ด้วยพอเขียนบทกลอนตามประสามือสมัครเล่น จึงใคร่อยากจดจารความรู้สึกบางอย่างบ้าง
แล้วปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยกลับมาพบกันอีกครั้ง...พร้อมความหวังและความฝันแสนสวยงามกัน

อำลาอาลัย ปี พ.ศ. 2555

ลาแล้วลาลับ...ลาทีปี ๒๕๕๕    
ที่ผ่านไปแล้วผ่านมา และผ่านหาย
ผ่านเรื่องราวเหนื่อยยากแสนมากมาย    
ผ่านทั้งสิ่งดีและร้ายหลากหลายครัน

อาจร้องไห้ในบางคืนที่เมาค้าง    
มียิ้มบ้างในบางคราที่น่าขัน
อาจย่ำแย่ย่อยยับกับบางวัน    
มีหัวเราะเยาะหยันบางเวลา

ปีเก่าใกล้ผ่านพ้นอีกหนแล้ว
พาใจแป้วจิตป่วนรัญจวนหา
วันวัยล่วงผ่านเลย...เคยผ่านมา
ก็ผ่านไปในพริบตาเพียงชั่วคืน

ขอความทุกข์เข็ญทวีของปีก่อน
ซึ่งบั่นทอนชีวิตจนเกินทนฝืน
บรรเทาลงสิ้นมลายกลายเป็นฟืน
ที่พร้อมลุกโชนชื่นเมื่อตื่นเช้า

ลุกเป็นไฟให้ความหวังดังตะวัน
แผดสาดแสงเสกสรรดับความเศร้า
พานพบทางสายหมอกขาวพราวพริ้งเพรา
ทอดทับตามทางสีเทาแสนเปล่าดาย

ลาแล้วลาล่วง ปี ๒๕๕๕
ฝากน้ำตาความบัดซบสยบพ่าย
ปลดตรวนพันธนาการร้าวรานร้าย
จงลาลับลิบหายไปพร้อมกัน

ขออำลาปีเก่า...เมาทิ้งทวน
ดื่มประชดฤดูแปรปรวน โลกผวนผัน
แด่อดีตที่ยับเยินเกินจำนรรจ์
ลมหายใจที่เหลือนั้นสู้แค่ตาย...

***

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Life of Pi การเดินทางของพาย พาเทล


นิยายมหัศจรรย์ที่ขายดีไปทั่วโลก 
และได้รับรางวัลระดับสากลมากมาย

เป็นนวนิยายผจญภัยแนวแฟนตาซีของ ยานน์ มาร์เทล (Yann Martel)
นับเป็นผลงานของนักเขียนแคนาดาหน้าใหม่ไร้ชื่อเสียง
ซึ่งถึงขนาดต้องประกอบอาชีพเป็นยาม ล้างจาน และใช้แรงงานเพื่อเลี้ยงชีพ
แต่แล้ว ยานน์ มาร์เทล ผู้เขียนกลับกลายเป็นศิลปินชื่อก้องโลกในชั่วข้ามคืน
เมื่อนิยายเล่มนี้ของเขาถูกตีพิมพ์ขายดีแบบปากต่อปาก และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย
เพราะเขาทำใหคนอ่านเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง จึงโดนใจนักอ่านไปกว่าสามสิบประเทศทั่วโลก

Life of Pi ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนในวัยเด็กคนหนึ่งซึ่งเคยเดินทางผจญภัยในอินเดีย
ซึ่งตัวเอกของเรื่องนี้คือ พิสซีน "พาย" โมลิตอร์ พาเทล เด็กชายชาวอินเดียจากเมืองพอนดิเชอร์รี
เรื่องราวเหลือเชื่อและเต็มไปด้วยมนตร์สะกดของพาย พาเทล
ซึ่งกำเนิดในครอบครัวผู้อำนวยการสวนสัตว์ และตัวเขานับถือถึงสามศาสนา
คือ ฮินดู คริสต์ และ อิสลาม

Life of Pi การเดินทางของพาย พาเทล
หนังสือมือสอง : การเดินทางของพาย พาเทล
ผู้เขียน : ยานน์ มาร์เทล
ผู้แปล : ตะวัน พงศ์บุรุษ
จำนวน :  ๒๙๒ หน้า
ขนาด : ๑๖ หน้ายกพิเศษ
สำนักพิมพ์ : บลิส
พิมพ์ครั้งที่ : ๑
เดือนปีที่พิมพ์ : กันยายน ๒๕๔๗


การเดินทางของพาย พาเทล เริ่มต้นเมื่อครอบครัวต้องอพยพไปอยู่แคนาดาพร้อมกับสารพัดสัตว์
เพราะเมื่อพายอายุได้สิบหกปี พ่อของเขาได้ตัดสินใจที่จะปิดสวนสัตว์
เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในอินเดียสมัยอินทิรา คานธี ไม่ค่อยแน่นอนนัก 
พ่อได้ขายสัตว์ส่วนใหญ่ในสวนสัตว์ให้กับสวนสัตว์หลายแห่งในสหรัฐฯ

พายได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปพร้อมกับบรรดาสัตว์ด้วยเรือสินค้าชื่อ ซิมซัม 
การผจญภัยอุบัติขึ้นเมื่อเรือแตก พาย พาเทล เป็นคนเดียวที่รอดชีวิต
แต่เขาต้องติดอยู่บนเรือชูชีพกับหมาป่าไฮยีนา ลิงอุรังอุตัง ม้าลาย
และ...เสือโคร่งเบงกอลหนัก 450 ปอนด์ ชื่อ ริชาร์ด พาร์เกอร์ 
บรรดาสัตว์ต่างกินกันเองตามวิสัยธรรมชาติ 
จนกระทั่งเหลือเพียง พาย พาเทล กับ ริชาร์ด พาร์เกอร์

ยาน มาร์เทล Yann Martel
คนกับเสือผจญทะเลด้วยกันนานถึง 227 วัน
กลายเป็นเรื่องราวอันพิสดารที่ไม่มีใครเหมือน

รางวัลและเกียรติยศของ Life of Pi
• ปี 2001 เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Governor General's Literary Award for Fiction (Canada)
รางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศแคนาดา
• ปี 2001 ชนะเลิศประเภทนวนิยายรางวัล Hugh MacLennan Prize (Canada)
• ปี 2002 เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Commonwealth Writers Prize (Eurasia Region, Best Book)
• ปี 2002 ชนะเลิศประเภทนวนิยายรางวัล Man Booker Prize
• ปี 2003 ชนะเลิศรางวัล Boeke Prize (South Africa) 
รางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศแอฟริกาใต้

***



ภาพยนตร์ Life of Pi ชื่อไทย ชีวิตอัศจรรย์ของพาย (จะเข้าฉายในประเทศไทย 20 ธ.ค. สิ้นปีนี้)
โดยผู้กำกับ อั้ง ลี่ สร้างขึ้นจากหนังสือขายดีแนวผจญภัยแนวแฟนตาซีของ Yann Martel
ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวอินเดีย ชื่อ พาย พาเทล ที่มีชีวิตรอดจากเหตุการณ์เรือล่ม
โดยใช้ชีวิตอยู่ในเรือชูชีพเป็นเวลา 227 วัน กับบรรดาสิงสาราสัตว์นานาชนิด รวมถึงเสือเบงกอลตัวมหึมา
พายต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังกับเจ้าสัตว์ร้ายนี้โดยใช้ความรู้ ไหวพริบ และศรัทธาทั้งหมดเพื่อให้มีชีวิตรอด

ภาพยนตร์ Life of Pi มีการพัฒนาเทคนิคสำหรับการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ด้วยรูปแบบภาพ 3 มิติ
เปิดประสบการณ์ที่มีมนต์เสน่ห์น่าหลงใหล สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างน่าประทับใจ
และพาผู้ชมไปสู่การค้นพบที่พวกเขาจะไม่มีวันลืม...


วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คนเลี้ยงม้า

วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลดีเด่น พิมพ์เผยแพร่ถึง ๕ ภาษา
"คนเลี้ยงม้า" เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นเรื่องสั้นดีเด่นในปี ค.ศ. 1980

คนเลี้ยงม้า

หนังสือมือสอง : คนเลี้ยงม้า
ผู้เขียน : จาง เสียน เลี้ยง
ผู้แปล : พิริยะ พนาสุวรรณ
จำนวน : ๘๐ หน้า
ขนาด : ๑๖ หน้ายกธรรมดา
สำนักพิมพ์ : ชีวิต
พิมพ์ครั้งที่ : ๓ (ปกไม่ได้แก้ไข พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๑)
เดือนปีที่พิมพ์ : มกราคม ๒๕๓๕

นวนิยายขนาดสั้นร่วมสมัยเรื่องนี้ ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศจีน
ยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม และความนิยมก็ขยายวงกว้างออกไปสู่ภายนอก
จนถึงกับมีผู้นำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา

เมื่อเห็นว่าเป็นวรรณกรรมจีน
ผู้อ่านหลายท่านคงจะหลับตานึกถึงนวนิยายต่อต้านลัทธิทุนนิยม
หรือไม่ก็เป็นนวนิยายส่งเสริมระบอบสังคมนิยม
แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่...

จาง เสียน เลี้ยง เขียน / พิริยะ พนาสุวรรณ แปล
คนเลี้ยงม้า...
เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับชีวิตต่างๆ มาโดยตลอด
เช่นเดียวกับผู้อ่านทุกคน และจากประสบการณ์ซึ่งมีทั้งความขมขื่น
ความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ผสมผสานกับความหอมหวานและความสุข
เขาก็ค้นพบสิ่งที่คนเราทุกคนต้องการจะรู้ นั่นก็คือ...
เขา มิใช่คนไร้ค่า ดังที่เคยคิดมาโดยตลอด

สิ่งที่เขาค้นพบด้วยตัวเองนี้...
ทำให้ ซู้ หลิง จุน ปฏิเสธข้อเสนอของบิดาซึ่งเป็นมหาเศรษฐี
ที่จะพาเขาไปใช้ชีวิตอย่างสบายในต่างประเทศ
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า เขารู้ว่าตัวเองมีคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสังคมบ้านนอก
ที่แสนล้าหลัง จนไม่สามารถทิ้งมาตุภูมิไปได้

***

"ผมรู้สึกปีติยินดีที่ได้ทราบว่า
คุณชอบนวนิยาย 'คนเลี้ยงม้า' ของผม และได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว
ประเทศจีนกับประเทศไทยได้ไปมาหาสู่กันฉันมิตรมาโดยตลอด
แต่น่าเสียใจมากที่เราทั้งสองฝ่ายยังทำไม่เพียงพอในการใช้
วรรณกรรมมากระตุ้นการเพิ่มพูนความเข้าใจต่อกันให้มากยิ่งขึ้น

ขอให้คุณเชื่อว่าวรรณกรรมของนักเขียนของจีนในยุคปัจจุบัน
ก็เป็นหน้าต่างที่ดีที่สุดสำหรับมองดูและทำความเข้าใจต่อจิตใจของชาวจีนในยุคปัจจุบัน
สิ่งที่ทำให้ผมยินดีก็คือคุณได้ช่วยเผยความในใจของชาวจีนคนหนึ่ง
ออกมาให้ผู้อ่านชาวไทยรู้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว"
                               - จดหมายจาก จาง เสียน เลี้ยง -


วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรือโรงงาน

วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมจากญี่ปุ่น
เป็นงานที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมสมัยใหม่
เป็นเรื่องที่เขียนได้อย่างมีศิลปะและสะท้อนภาพสังคมในญี่ปุ่น
ก่อนที่จะพบกับความสำเร็จในการพัฒนาพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม

เรือโรงงาน
(พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ในชื่อ "เรือนรก")
หนังสือมือสอง : เรือโรงงาน
ผู้เขียน : ทาคิจิ โกบายาชิ
ผู้แปล : วิทยากร เชียงกูล
จำนวน : ๑๕๒ หน้า
ขนาด : ๑๖ หน้ายกธรรมดา
สำนักพิมพ์ : ดาวเรือง
พิมพ์ครั้งที่ : ๓
เดือนปีที่พิมพ์ : สิงหาคม ๒๕๓๑

ทาคิจิ โกบายาชิ เริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง เรือโรงงาน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๑
โดยก่อนหน้านั้นสองปีเขาได้อ่านหนังสือพิมพ์พบเรื่องราวการเอารัดเอาเปรียบคนงาน
อย่างไร้มนุษยธรรมบนเรือโรงงานลำหนึ่ง ซึ่งคนงานเหล่านั้นถูกจ้างไปทำงานบนเรือโรงงานปูกระป๋อง
คนงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนดจะถูกลงโทษอย่างหนัก
คนงานหลายคนส่วนหนึ่งยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่น ก็ถูกตี ถูกเหล็กเผาไฟนาบหรือไม่ก็ถูกหย่อนลงทะเล
เมื่อเรือลำนั้นแล่นกลับมาที่ท่าเมืองฮาโกดาเตะ คนงานจึงได้ร้องเรียนต่อทางการ
ถึงความโหดร้ายของกัปตัน ผู้จัดการ และหัวหน้าคนงาน รวมทั้งได้รายงานเรื่องนี้ไปทางหนังสือพิมพ์ด้วย
เป็นผลให้กรณีดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

เมื่อทาคิจิอ่านพบเรื่องนี้ เขาได้ชักชวนเพื่อนคนหนึ่งซึ่งกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับ
"สภาวะความเป็นอยู่ของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม"
ให้ขยายขอบเขตการวิจัยไปศึกษาถึงสภาวะของคนงานในเรือโรงงานทั้งหลายด้วย
ส่วนทาคิจิเองก็เริ่มลงมือศึกษาเตรียมตัวเขียนนิยายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานในเรือโรงงานประเภทนี้

The Factory Ship โดย Takiji Kobayashi
ทาคิจิได้เตรียมศึกษาค้นคว้าก่อนเขียนเรื่องนี้อย่างมาก
เขาเขียนบรรยายถึงที่ทำงานและสภาพการทำงานของคนงานได้อย่างละอียด
รวมทั้งบรรยากาศที่หดหู่ การกดขี่ภายในเรือโรงงาน
ตัดกับบรรยากาศของทะเลซึ่งบางครั้งก็แปรปรวน บ้างครั้งก็สวยสงัด

***

"งานชิ้นนี้ไม่มีพระเอก ไม่มีตัวละครเด่นๆ 
ชนิดที่คุณจะพบได้ในงานที่กล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกชน...ผมเชื่อว่า
นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มีการพยายามที่จะเขียนเรื่องที่มีลักษณะดังกล่าวออกมาเป็นเรื่องยาว
มันเป็นงานที่เสี่ยงและยากในทุกแง่มุม"
- ทาคิจิ โกบายาชิ -

"ทาคิจิบรรยายถึงความปั่นป่วนของทะเลคัมชัตสุกะได้อย่างยอดเยี่ยม
ลักษณะของธรรมชาติด้านที่โหดร้าย ปั่นป่วน 
ซึ่งขัดแย้งกับภาพแห่งความสงบราบเรียบที่เคยปรากฏในกวีนิพนธ์และนิยาย
ได้ถูกนำมาบรรยายในวรรณกรรมคนงานเป็นครั้งแรก"
- แฟรงค์ โมโตฟูจิ -

"งานของทาคิจิเรื่องนี้มีลักษณะเฉพาะ คือเป็นเรื่องที่เขียนอย่างเรียบง่าย
ใช้ประโยคสั้น ห้วน เห็นภาพชัด เป็นรูปธรรม...ที่สำคัญเขาเขียนได้อย่างมีศิลปะ
ชวนติดตามและก่อให้เกิดความสะเทือนใจได้อย่างสูง
เนื้อหาของเรื่องเข้มข้นในตัวมันเองอย่างสมจริงสมจัง ไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้น"
- วิทยากร เชียงกูล -




วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำสอนของพ่อ

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม 
ซึ่งในปีนี้ยังเป็นปีพิเศษนั่นคือวันครบรอบ ๘๕ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่คนไทยถือว่าเป็น 

พ่อของแผ่นดิน” 

คำสอนของพ่อ

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ และระหว่างที่ทรงครองศิริราชสมบัติ
ในหลวงได้ยึดมั่นในพระดำรัสที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม” อยู่ตลอดเวลา
พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อพระสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่เคยแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา
ตลอดเวลาพระองค์ที่ทรงครองราชย์ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริกว่าสามพันโครงการ
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาส

หนังสือมือสอง คำสอนของพ่อ เล่มนี้ เวลาผ่านไป ๑๑ ปีแล้ว
จัดพิมพ์เนื่องด้วยวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๔๔ เป็นวันครบรอบปีที่ ๖๖ ของกรมการทหารสื่อสาร
จึงได้จัดพิมพ์พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อเป็นแนวทาง น้อมนำมาปฏิบัติ และดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าผาสุกสืบไป...


***

“...การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่างคือ การศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง 
วิชาการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว 
อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด 
วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีการประพฤติปฏิบัติ ค
นที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา 
แด่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรมจะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้…”
พระบรมราโชวาทพระราชทาน
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓


“…ปัจจุบันมีความคิดทฤษฎีอยู่มากทั้งเก่าและใหม่สำหรับให้ปฏิบัติ 
ผู้สำเร็จการศึกษาซึ่งเป็นบัณฑิตเป็นผู้รู้ ควรจะมีหลักในการเลือก การประสม 
และการปฏิบัติทฤษฎีนั้นๆ อย่างมีเหตุผล…เลือกเฟ้นทฤษฎีเหล่านั้นก่อน 
แล้วนำเอาแต่ส่วนที่เชื่อได้แน่ว่าดีว่าถูกต้องมาใช้การให้ได้ผลที่พึงประสงค์
จึงจะเกิดเป็นผลดีแก่การศึกษาของชาติ ทำให้การศึกษาเจริญงอกงามและมั่นคง 
ทั้งเหมาะสมและสอดคล้องแก่สภาพการณ์ทุกอย่างของประเทศของโลกอย่างสมบูรณ์…”
พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

 "ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป 
ถ้าใช้ไฟนี้ส่องทางไปทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย 
และถ้าไม่ระวังไฟนั้นอาจจะเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ 
ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ 
ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน 
จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕


“ท่านผู้ใหญ่ไปตรวจราชการที่ไหน ถ้าไปถึงไม่มีใครเลี้ยงก็โกรธ 
แต่ถ้าไปถึงแล้วเลี้ยงก็พอใจ แต่ว่าเงินที่เลี้ยงน่ะเอามาจากไหน 
เมื่อไม่มีเงินรับรองของส่วนภูมิภาคก็ต้องไปเรี่ยไรกัน ไปเรี่ยไรจากข้าราชการชั้นผู้น้อย 
หรือไม่อย่างนั้นก็ไปขูดรีดจากพ่อค้า แล้วพ่อค้าก็ต้องถือว่าเป็นการลงทุน
มันก็กลายเป็นคอรัปชั่นไป”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการ
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๒๔ กันายายน พ.ศ. ๒๕๑๒


"...เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว 
รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ 
จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ
และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗

"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย 
ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่ พอมี พอกิน 
และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่ พอกิน มีความสงบ 
และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่ จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน 
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ 
เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้..." 
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

"...พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ
ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย 
มีความคิดว่าต้องทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก 
คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้  
แต่ว่าจะต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ 
พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง
ฉะนั้นความพอเพียงก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...”
พระราชดำรัชเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑







วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บ้านระแกง

เดือนธันวาคม...ใกล้สิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ขณะฤดูหนาวหายไปไหน--
บล็อกแนะนำหนังสือมือสอง see-book น้อยๆ ให้รู้สึกใจหายยิ่งนัก วันเวลาผ่านไปอีกปีแล้ว

บันเทิงบันทึกของเด็กโรงงานทำรองเท้า
ปรัชญาที่น่าขบคิดจากโลกใบเล็กๆ ของเด็กชายตัวน้อยๆ

บ้านระแกง / สุรชัย เหลืองไชยรัตน์

หนังสือมือสอง : บ้านระแกง
ผู้เขียน : สุรชัย เหลืองไชยรัตน์
จำนวน : ๑๒๖ หน้า
ขนาด : ๑๖ หน้ายกพิเศษ
สำนักพิมพ์ : ดับเบิ้ลนายน์
พิมพ์ครั้งที่ : ๑
เดือนปีที่พิมพ์ : สิงหาคม ๒๕๔๓

บ้านระแกง...ปรัชญาที่แฝงไว้ในความแก่นซน ดื้อรั้นของเด็กชายตัวน้อยๆ
ที่เพียรสร้างวีรกรรม และสรรหาความแสบ - ซุกซนไม่เว้นแต่ละวัน
จนเกิดเป็นข้อคิด คติ และปรัชญาให้ได้อ่านกันเพลินๆ
อาจไม่เคร่งครัด เคร่งเครียด ดั่งเช่นปรัชญาโดยทั่วไป
เพราะถือเป็น... บันเทิงบันทึก ที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระ เพื่อให้ผู้อ่านได้ขบคิด
และนำไปดัดแปลงใช้กับชีวิตประจำวันได้ในทุกๆ โอกาส

โตมากับเกือก พกเกลือเหน็บเข็มขัด กัดลูกมะเกี๋ยง
"บ้านระแกง" หรือที่พวกเราจะเรียกกันในบ้านว่า 'บ้านใต้'
เป็นบ้านที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่เรามานาน
ที่นี่เป็นที่ที่เราใช้เป็นโรงงานผลิตรองเท้าในสมัยแรกๆ
ที่นี่เป็นที่ที่เคยใช้เลี้ยงดูช่างทำรองเท้ากว่าห้าสิบครอบครัว
ที่นี่มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เกิดรากฐานของความเป็นเราในปัจจุบันนี้

ในปัจจุบันนี้ บ้านระแกงเป็นที่ดินซึ่งมีโกดังเก็บสินค้าเก่าๆ 
และมีโรงเลี้ยงไก่อายุกว่าสามสิบปีอยู่หนึ่งหลังพร้อมกับบ้านพักเล็กๆ บ้านหนึ่งเท่านั้น
ความเรียงต่างๆ เหล่านี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านระแกง
และสังคมในละแวกนั้นในสมัยก่อนที่จะย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น

ความเรียงเหล่านี้เขียนให้พี่น้องและประชาชนทั่วไป
ที่เคยอาศัยอยู่ในละแวกระแกงในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐
ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้บ้านระแกงของเราเป็นบ้านที่ร่มเย็น
ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้บรรยากาศของการเติบโตขึ้นมาในสังคมเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น

คนข้างบ้านเป็นเพื่อน พ่อแม่เป็นที่พึ่ง พี่น้องเป็นกำลังใจ
ทำให้บ้านระแกงถึงแม้จะเป็นบ้านไม้เก่าอายุกว่าห้าสิบปีนั้น
เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความหวานชื่น 
ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านระแกงจะเป็นเรื่องสร้างสรรค์

ความเรียงต่างๆ เหล่านี้ ได้พยายามคิดถึงสิ่งที่เป็นความทรงจำที่ดี
เพื่อส่งต่อให้พี่น้องเพื่อนฝูงได้อ่าน เหมือนกับการค้นหาภาพเก่าจากอัลบั้ม
ออกมาให้แขกที่มานั่งในห้องรับแขกได้ชมความเป็นมาของเจ้าของบ้าน...