วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำสอนของพ่อ

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม 
ซึ่งในปีนี้ยังเป็นปีพิเศษนั่นคือวันครบรอบ ๘๕ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่คนไทยถือว่าเป็น 

พ่อของแผ่นดิน” 

คำสอนของพ่อ

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ และระหว่างที่ทรงครองศิริราชสมบัติ
ในหลวงได้ยึดมั่นในพระดำรัสที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม” อยู่ตลอดเวลา
พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อพระสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่เคยแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา
ตลอดเวลาพระองค์ที่ทรงครองราชย์ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริกว่าสามพันโครงการ
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาส

หนังสือมือสอง คำสอนของพ่อ เล่มนี้ เวลาผ่านไป ๑๑ ปีแล้ว
จัดพิมพ์เนื่องด้วยวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๔๔ เป็นวันครบรอบปีที่ ๖๖ ของกรมการทหารสื่อสาร
จึงได้จัดพิมพ์พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อเป็นแนวทาง น้อมนำมาปฏิบัติ และดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าผาสุกสืบไป...


***

“...การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่างคือ การศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง 
วิชาการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว 
อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด 
วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีการประพฤติปฏิบัติ ค
นที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา 
แด่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรมจะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้…”
พระบรมราโชวาทพระราชทาน
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓


“…ปัจจุบันมีความคิดทฤษฎีอยู่มากทั้งเก่าและใหม่สำหรับให้ปฏิบัติ 
ผู้สำเร็จการศึกษาซึ่งเป็นบัณฑิตเป็นผู้รู้ ควรจะมีหลักในการเลือก การประสม 
และการปฏิบัติทฤษฎีนั้นๆ อย่างมีเหตุผล…เลือกเฟ้นทฤษฎีเหล่านั้นก่อน 
แล้วนำเอาแต่ส่วนที่เชื่อได้แน่ว่าดีว่าถูกต้องมาใช้การให้ได้ผลที่พึงประสงค์
จึงจะเกิดเป็นผลดีแก่การศึกษาของชาติ ทำให้การศึกษาเจริญงอกงามและมั่นคง 
ทั้งเหมาะสมและสอดคล้องแก่สภาพการณ์ทุกอย่างของประเทศของโลกอย่างสมบูรณ์…”
พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

 "ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป 
ถ้าใช้ไฟนี้ส่องทางไปทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย 
และถ้าไม่ระวังไฟนั้นอาจจะเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ 
ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ 
ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน 
จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕


“ท่านผู้ใหญ่ไปตรวจราชการที่ไหน ถ้าไปถึงไม่มีใครเลี้ยงก็โกรธ 
แต่ถ้าไปถึงแล้วเลี้ยงก็พอใจ แต่ว่าเงินที่เลี้ยงน่ะเอามาจากไหน 
เมื่อไม่มีเงินรับรองของส่วนภูมิภาคก็ต้องไปเรี่ยไรกัน ไปเรี่ยไรจากข้าราชการชั้นผู้น้อย 
หรือไม่อย่างนั้นก็ไปขูดรีดจากพ่อค้า แล้วพ่อค้าก็ต้องถือว่าเป็นการลงทุน
มันก็กลายเป็นคอรัปชั่นไป”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการ
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๒๔ กันายายน พ.ศ. ๒๕๑๒


"...เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว 
รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ 
จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ
และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗

"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย 
ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่ พอมี พอกิน 
และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่ พอกิน มีความสงบ 
และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่ จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน 
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ 
เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้..." 
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

"...พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ
ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย 
มีความคิดว่าต้องทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก 
คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้  
แต่ว่าจะต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ 
พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง
ฉะนั้นความพอเพียงก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...”
พระราชดำรัชเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑